ความรักคืออะไรกันเเน่
ความรักคืออะไร?
รัก คือการให้ รัก คือการเข้าใจกัน รัก คือการมีกันและกันอยู่ในใจ สรุปรักคืออะไรกันแน่ คำว่า"รัก" มีนิยามแตกต่างกันไป แล้วแต่ใครจะเป็นคนนิยาม ความรักในความหมายของเรา กับความรักในความหมายของคนหน้าปากซอย อาจจะแตกต่างกันคนละขั้วเลยก็ได้ จริงแล้วสิ่งที่คนเรียกว่าความรัก เป็นความรู้สึก ความคิดที่หลากหลายมากมาย ผสมปนเปกัน ซับซ้อนสับสนจนแยกไม่ออก แปลไม่ถูกว่าจะเรียกว่าอะไร ก็เลยนิยามสมมติกันขึ้นมาว่า เนี่ยแหละรัก จากการอนุมานเอา จากความจำ(ที่ไปฟัง ไปอ่านมา) เทียบกับความรู้สึกของตัวเอง ดังนั้น องค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่ารักของแต่ละคน จึงไม่เหมือนกัน บางคนอาจตีความหมายผิดไป เอาความรู้สึกอะไรก็ไม่รู้มาเรียกว่ารักเลยก็มี (เหมือนกับคนที่ไปฟังมาว่า นก นั้นมีปีก บินได้ ตัวใหญ่ประมาณฝ่ามือ พอไปเห็นค้างคาว มีปีก บินได้ ตัวเท่าๆมือ ก็ฟันธงเลยว่า เนี่ยแหละ นก) ด้วยเหตุนี้ การนิยามคำว่ารัก จึงไม่ตายตัว และไม่ควรยึดว่า รักต้องเป็นอย่างนั้น รักต้องเป็นอย่างนี้ เพราะคำว่ารักเป็นแค่คำๆหนึ่งที่เราเอาไว้เรียกและนิยามกันเอง
องค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่ารักล่ะ?คนส่วนใหญ่ พอพูดถึงคำว่ารัก จะนึกถึงรักแบบหนุ่มสาวก่อนเป็นอันดับแรก ความรักแบบชู้สาว มักประกอบด้วยความรู้สึกที่อยากอยู่ใกล้ๆ อยากได้รับความเอาใจใส่ อยากให้เค้ารักเราตลอดไป อยากอยู่กับสภาพแบบนี้นานๆ เหล่านี้จะขอเรียกว่าองค์ประกอบด้าน"ตัณหา(Desire)" องค์ประกอบอีกอย่างคือ ความรู้สึกประเภท อยากให้เค้ามีความสุข ไม่อยากให้เค้าเป็นทุกข์ อันนี้ขอเหมารวมเรียกว่าองค์ประกอบด้าน"เมตตา(Compassion)" และสิ่งสำคัญสุดท้ายคือ องค์ประกอบด้าน "ความผูกพันธ์/ความสำพันธ์(Relationship)" ยึดเหนี่ยว ยึดติด ความรักจะไปในทางใด ขึ้นอยู่กับความเข้มข้น หรือปริมาณขององค์ประกอบสามอย่างนี้ บางครั้ง การมีเพียงองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้สำหรับบางคน ก็อาจเรียกว่า"รัก"ได้
รักอย่างไรเป็นสุข รักอย่างไรเป็นทุกข์?สิ่งที่จะกำหนดว่ารักจะเป็นเหตุให้เราสุขหรือทุกข์ อยู่ที่องค์ประกอบของความรัก หากมี"ตัณหา"มากกว่า"เมตตา" ความรู้สึกต่อความรักนั้นจะร้อน หวือหวา และส่วนใหญ่จะเป็นทุกข์มากกว่าสุข ความรู้สึกต่อความผู้พันธ์ส่วนใหญ่จะเป็นลบ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? เวลาเราอยากให้คนรักมาสนใจ อยากให้มีคนมาเอาใจ เป็นช่วงที่ใจเรามีความบกพร่อง ดิ้นรนหาสิ่งเติมเต็ม เวลานั้นใจจะไม่มีทางเป็นสุขไปได้เลย ส่งผลให้เวลานึกถึงความผู้พันธ์ ก็จะเป็นความผูกพันธ์แบบ"จะเอา"มากกว่า"ให้" ยิ่งทำให้รู้สึกอยากโน่นอยากนี่หนักเข้าไปอีก ในทางตรงข้าม หากมี"เมตตา"มาก จะเป็นความรักที่เป็นสุข เพราะขณะที่เรารู้สึกอยากให้คนรักมีความสุข พ้นจากทุกข์ จิตใจเราเต็ม พร้อมที่แบ่งปันความสุข ความรู้สึกนั้นให้คนรัก ความรู้สึกแบบนี้เป็นความรู้สึกบวก ทำให้เมื่อความผูกพันธ์ก็เป็นไปในทางบวกด้วยเช่นเดียวกัน ถ้ารักแบบตัณหามันทุกข์ แล้วทำไมคนถึงได้หลงไหลได้ปลื้มกันนัก? เป็นเพราะ หนึ่ง เมื่อมีความความอยากแล้วมันทุกข์ก็จริง แต่เมื่อขณะที่สมอยาก ความอยากก่อนหน้าหายไป ช่วงนั้นเจ้าตัวจะรู้สึกเป็นสุข(จากการที่ทุกข์หายไป) ทำให้จิตใจอยากลิ้มรสความรู้สึกแบบนั้นอีก ถึงแม้ไม่สมอยาก เมื่อมีตัณหาแล้ว จิตใจจะคิดโดยอัตโนมัติว่า ถ้าได้อย่างที่อยากเนี่ย จะมีความสุข จิตใจก็จะดิ้นรนแสวงหาสภาวะแบบที่คิดว่าเป็นสุขนั้น เป็นวงจรอยู่อย่างนี้ แต่ในความเป็นจริง ความสุขที่ได้จากการสมอยากนั้น อยู่ไม่นาน ไม่ยั่งยืน เพียงชั่วแวบเดียวก็กลับกลายเป็นความอยากอื่นต่อไปอีกหนึ่งเหตุผลคือ ไม่เคยรู้สึกว่า ความสุขที่ละเอียดอ่อน ประณีตกว่านั้นเกิดจากรักแบบเมตตา ดั่งเช่นความรู้สึกอยากให้คนที่รักมีความสุข อย่างไม่หวังสิ่งตอบแทนนั้น มีความสุขยิ่งกว่ามากนัก เหตุที่ทำให้คนยังหลงไหลได้ปลื้มกับรักแบบตัณหา คือยังไม่มีความสามารถในการแยกแยะว่า ความรู้สึกแบบไหน ความคิดแบบไหน จะนำไปสู่ผลอย่างไร เมื่อไม่สามารถเห็นได้อย่างละเอียด ก็จับเอาความรู้สึกที่แรง และชัด มาเป็นบรรทัดฐาน มากำหนด ว่า ความรักเป็นความรู้สึกแบบไหน มีแล้วรู้สึกอย่างไร แบบหยาบๆเท่านั้น
ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว จะทำอย่างไรดี?สิ่งที่ควรเข้าใจคือ "รัก" เป็นคำที่ใช้อธิบาย กลุ่มก้อนของความรู้สึก ความคิดมากมาย จึงไม่ควรยึดติดว่า มันเป็นอย่างโน้น มันเป็นอย่างนี้ และสิ่งที่ควรรู้คือ รู้ว่า ความรักของเรา ประกอบด้วยอะไรบ้าง เวลาไหนเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไรแล้วมีผลยังไง ถ้ารู้เท่าทันแล้ว เราจะไม่สับสนอีก ว่าทำไม รักเดียวกันนี้ เดี๋ยวก็ทำให้สุข เดี๋ยวก็ทำให้ทุกข์ เดี๋ยวก็ทำให้อบอุ่น อีกเวลาก็ทำให้เหงาจับใจ แต่จิตใจคน ไม่ใช่อะไรที่จะเข้าใจและมองเห็นได้ง่ายๆอย่างที่คิด เพราะความรู้สึกและความคิด เกิดเร็ว ดับเร็วมาก จนบางครั้งแยกแยะไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร คงเคยมีที่บางครั้งเราหวังดีกับใครสักคน ให้คำแนะนำด้วยความเมตตา แต่พอเห็นอีกฝ่ายไม่สนใจ ทำหูทวนลม หรือทำตรงข้ามกับที่สอน ก็ฟิวส์ขาดด่ากราดด้วยความโกรธ หรือไม่ก็นึกไม่พอใจอยู่คนเดียว ตรงนี้คนที่มองความรู้สึกตัวเองไม่ทันก็อาจเหมาสรุปไปว่า ความหวังดี ทำให้เป็นทุกข์! แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่ ความหวังดี หรือเมตตา เกิดขึ้น ขณะนั้นเรามีความสุข แต่หลังจากนั้นเราก็เกิดความคาดหวัง อยากให้เค้าเป็นอย่างใจ ตรงนี้เป็นตัณหา เมื่อเค้าไม่เป็นอย่างใจ ก็เกิดความไม่พอใจ ตรงนี้เป็นโทสะ สิ่งที่ตามมาคือ ความทุกข์ใจ เพราะไฟโกรธเผาใจอยู่นั่นเอง ถ้าสังเกตุและแยกแยะออก ก็จะเข้าใจว่า ความหวังดี ไม่ได้เป็นเหตุของความทุกข์ ความคาดหวังต่างหาก ตัณหาต่างหากที่เป็นเหตุ ความรักก็เช่นเดียวกัน ความรู้สึกอยากจะให้ไม่ก่อให้เกิดทุกข์ ความรู้สึกอยากจะเอานั่นแหละ ต้นตอของอารมณ์ด้านลบทั้งหลาย เช่น โกรธ หึง หวง เหงา เศร้า
ดังนั้นสิ่งที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับความรัก จึงไม่ใช่เรื่องแบบ ผู้หญิงขี้หึง ผู้ชายหล่อมักเจ้าชู้ ผู้ชายนิสัยแบบนี้น่าคบ ผู้หญิงท่าทางแบบนี้นิสัยเสีย บทสรุปพวกนี้เป็นการสรุปเอาเองโดยความคิดและประสบการณ์ ไม่จำเป็นต้องจริงเสมอไป สิ่งที่ควรเข้าใจคือจิตใจของเราเอง และเมื่อเราเข้าใจจิตใจของตัวเองแล้ว การเข้าใจจิตใจคนอื่นก็เป็นเรื่องไม่ยาก เมื่อเข้าใจคนเอง เข้าใจคู่รัก เราก็จะไม่รักอย่างหลงๆ รักลมๆแล้งๆ ชีวิตรักจะมีความสุข และนี่แหละเรียกได้ว่าเป็นคนที่ "รักเป็น"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น